เทศบาลนครเชียงรายต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
เทศบาลนครเชียงรายโดย พ.จ.อ. อัษฎางค์ วิเศษวงศ์ษา ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงราย ร่วมต้อนรับ คณะผู้เข้าศึกษาดูงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดยนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ , นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ และ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบ พร้อมคณะ เข้าศึกษาดูงานเทศบาลนครเชียงรายในการดำเนินงานพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างต่อเนื่องโดยการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณะ ด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเมินความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
เทศบาลนครเชียงรายมุ่งมั่นพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างนครเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งความสุขแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "เมืองสร้างคน คนสร้างเมือง" โดยบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย สู่การเป็นนครเชียงราย เมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุขแบบยั่งยืน
สำหรับการขับเคลื่อน “นครเชียงราย เมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุข” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่และสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ โดยมีสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย พร้อมทั้งร่วมกับ ภาคประชาสังคม แกนนำประชาชนทุกกลุ่มในชุมชน
สำหรับกองทุนสุขภาพในระดับท้องถิ่นประกอบด้วย
1.กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งปัจจุบันมีท้องถิ่นที่ร่วมจัดตั้งแล้วจำนวน 7,760 แห่ง
2.กองทุนบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (Long Term Care : LTC) หรือที่เรียกกันว่า กองทุน LTC มีท้องถิ่นร่วมจัดตั้งแล้วจำนวน 7,423 แห่ง
3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด มีเทศบาลนครเชียงราย ร่วมดำเนินการแล้วจำนวน 72 แห่ง จาก 76 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2568)
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “การบูรณาการทำงานร่วมกับพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากงบประมาณจัดสรรจะไม่ซ้ำซ้อน และสามารถบูรณาการกับกองทุนจากหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ“ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ "นครเชียงราย เมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุข"